“สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม ยันกรณีเสนอกฎหมาย ฉีดฮอร์โมนลดความต้องการทางเพศ หรือฉีดให้ไข่ฝ่อ เพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำไม่ใช่วิธีป่าเถื่อน ต้องร้องศาลและได้รับความยินยอมจากทั้งแพทย์และตัวผู้ต้องหา นานาประเทศก็ทำกัน เช่น ในสหรัฐฯ บางรายต้องถูกคุมทั้งชีวิต ส่วนค่าใช้จ่ายเข็มละ 1 แสนบาทไม่น่ามีปัญหา เพราะคงมีไม่กี่คนที่จะต้องฉีด เป้าหมายเพื่อป้องกันผู้ต้องหาไปทำผิดซ้ำ เพื่อความปลอดภัยของผู้หญิงและเด็กในสังคม
ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 12 มี.ค. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรงว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการป้องกันภัยคุกคามทางเพศและความรุนแรงต่างๆ รวมทั้งการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการใช้หลักทางจิตวิทยาและมาตรการทางการแพทย์ เพื่อเข้ามามีส่วนป้องกันผู้ต้องหาที่กระทำผิดซ้ำ เช่น การใช้ยา การฉีดฮอร์โมนลดความต้องการทางเพศหรือฉีดให้ไข่ฝ่อโดยมาตรการทางการแพทย์ ควบคู่กับมาตรการทางกฎหมายใส่อุปกรณ์ติดตามตัว และมีเจ้าหน้าที่คุมประพฤติติดตามดูแล เพื่อความปลอดภัยโดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้หญิงและเด็ก
“ส่วนประเด็นที่สังคมถกเถียงเรื่องการฉีดให้ฝ่อนั้น เราทำโดยพลการไม่ได้ ต้องมีความเห็นจากแพทย์ และเจ้าหน้าที่ต้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการ โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างน้อย 2 คนมีความเห็นพ้องต้องกัน และต้องได้รับความยินยอมจากผู้กระทำความผิดด้วย วิธีการต่างๆที่เรากำหนดไว้ไม่ใช่เรื่องป่าเถื่อน นานาประเทศเขาก็ทำกัน อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา มีบางรายต้องถูกควบคุมตลอดชีวิต ส่วนค่าใช้จ่ายการฉีดให้ฝ่อ 100,000 บาทต่อรายนั้น ผมคิดว่าคงมีไม่กี่คนที่ต้องฉีด และขั้นตอนไม่ได้เร็วหรือง่าย การที่เรามีกำไลอีเอ็ม (EM) และอาสาสมัครคุมประพฤติสามารถช่วยในเรื่องนี้ได้มากอยู่แล้ว” นายสมศักดิ์กล่าว
รมว.ยุติธรรมกล่าวด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้ถือว่าล้ำสมัยมาก อยู่ที่เวลาในการก้าวต่อไป ตนเชื่อว่ารัฐบาลในยุคหลังจากนี้จะปรับปรุงให้สมบูรณ์มากขึ้นไปอีก เพิ่มมาตรการในทุกมิติ ที่เราทำกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อหวังให้สังคมปลอดภัย คดีต่างๆเกี่ยวกับเพศและความรุนแรง รวมทั้งผู้กระทำผิดซ้ำจะลดลง หากสังคมรับรู้ว่าคนร้ายอยู่ที่ใด สังคมจะปลอดภัย เพราะเราช่วยดูแลกันเองได้