ตามที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยมีมติปรับข้อสอบคัดเลือก จาก GAT/PAT และวิชาสามัญเป็น TGAT/TPAT และ A-Level ในการคัดเลือกระบบทีแคสปีการศึกษา 2566 และนำร่องวิธีการสอบโดยใช้ระบบการสอบด้วยคอมพิวเตอร์กับระบบกระดาษคู่กันนั้น
ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบทีแคส กล่าวว่า การปรับครั้งนี้เป็นเพียงการปรับข้อสอบ แต่ระบบการคัดเลือกยังคงเหมือนเดิมคือมี 4 รอบ ดังนี้ รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน รอบที่ 2 โควตา รอบที่ 3 แอดมิชชัน และรอบที่ 4 รับตรงอิสระ โดยการปรับข้อสอบครั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาข้อสอบ ซึ่งที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ข้อสอบ GAT/ PAT และวิชาสามัญ มีความซ้ำซ้อน ยากเกินเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอน แต่ข้อสอบ TGAT/TPAT และข้อสอบ A-Level จะไม่เกินเนื้อหาหลักสูตร ดังนั้น การเตรียมตัวของเด็กที่จะสอบทีแคสในปี 2566 จึงต้องตั้งใจเรียนในห้องเรียน ทำกิจกรรม โดยไม่จำเป็นต้องไปติว หรือเรียนพิเศษเพิ่มเติม เพราะข้อสอบ TGAT/TPAT เน้นวัดความถนัดที่ไม่ได้เกิดจากความรู้ทางวิชาการ แต่จะเป็นการวัดหลักการคิดวิเคราะห์ ที่เกิดจากการทำกิจกรรม และการทำผลงานตามที่ครูผู้สอนมอบหมาย ส่วนการสอบวิชาสามัญจะไปอยู่ในข้อสอบ A-Level ซึ่งจะไม่เกินจากหลักสูตรที่เรียนในห้องเรียนขอยืนยันว่า การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ไม่ใช่การใช้เด็กเป็นหนูทดลอง แต่การปรับข้อสอบเพื่อแก้ปัญหาเดิมดังกล่าว
ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า การปรับข้อสอบทีแคสครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และสิ่งที่เด็กกำลังเผชิญ ทั้งสภาพการเรียนที่ได้รับความรู้ไม่เต็มที่ สภาพจิตใจและเศรษฐกิจครอบครัวย่ำแย่ บางรายพ่อแม่ตกงาน จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การตัดสินใจประกาศปรับข้อสอบในช่วงนี้ เหมือน ทปอ.ไม่เข้าใจว่าประเทศกำลังเจอกับสถานการณ์อะไรอยู่ ทำให้เด็กต้องเผชิญกับความไม่มั่นใจ ซ้ำซ้อน ยุ่งยาก ทั้งที่ควรจะต้องดูความจำเป็นมาเป็นอันดับแรก ซึ่งครั้งนี้ตนไม่เห็นความจำเป็นในการปรับเปลี่ยน และการปรับครั้งนี้ ทปอ.ได้มีการพูดคุยกับเด็กและผู้ปกครองมากน้อยแค่ไหน และส่วนตัวเห็นว่าการปรับข้อสอบครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษาแต่อย่างใด.