รมว.ยุติธรรม แจงร่างกฎหมายป้องกันข่มขืน-ฆาตกรต่อเนื่อง เพื่อปกป้องผู้หญิง ไม่ได้ทำเร็วไป หวั่นเกิดเหตุอีก-เร่งขับเคลื่อนเต็มสูบ โอดยังช้าไปด้วยซ้ำ ยันเฝ้าระวังคนอันตราย 10 ปี ไม่ได้ละเมิดสิทธิ แต่เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 65 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ในรายการหนึ่งถึงประเด็นกฎหมายป้องกันบุคคลอันตรายผิดซ้ำซาก “คดีทางเพศ” ว่า ร่างกฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำผิดซ้ำฯ วุฒิสภา ในวาระที่สอง หลังที่ประชุม ส.ว.ได้ผ่านวาระแรกแล้ว
โดยผู้ดำเนินรายการถามว่า ส่วนที่หลายคนมองว่าร่างกฎหมายนี้ออกมาเร็วไปจะไม่ละเอียด นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คิดว่าความรู้สึกของคนอาจมองว่าเร็วไป แต่ใจตนคิดว่าช้าไปด้วยซ้ำ เพราะผ่าน ส.ว.ก็ต้องทำกฎหมายรอง กว่าจะใช้ได้ก็ต้องรออีก 6 เดือน ซึ่งหากบังคับใช้ได้ช้าแล้วเกิดเหตุกับผู้หญิงขึ้นมาอีก ตนก็จะไม่มีความสุข ดังนั้นในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต้องทำให้สำเร็จ
“ที่ริเริ่มร่างกฎหมายนี้เพราะเห็นว่า นายสมคิด พุ่มพวง ฆาตกรต่อเนื่องกระทำผิดซ้ำบ่อยครั้ง จึงออกกฎหมายฉบับนี้เพื่อมาแก้ปัญหา โดยตนได้ให้ทีมงานตัวเองไปค้นของต่างประเทศว่า การควบคุมผู้กระทำผิดซ้ำแบบนี้ทำอย่างไรบ้าง พบว่าที่สหรัฐอเมริกามีกฎหมายฉบับหนึ่งชื่อ เมแกน เพื่อแก้ปัญหานี้โดยตรง ซึ่งเมื่อเราศึกษาจึงมีแนวความคิดว่า ถ้าสังคมรู้ว่าคนร้ายของประเทศอยู่ที่ไหน ก็จะไม่มีใครเสียชีวิต และประชาชนจะได้ระมัดระวังถูก” นายสมศักดิ์ กล่าว
ผู้ดำเนินรายการถามย้ำว่า ที่ผ่านมาได้มีการเฝ้าระวังหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราก็มีการเฝ้าระวังผู้พ้นโทษอยู่แล้ว แต่เรายังไม่มีกฎหมายไปควบคุม อย่างอำนาจการใส่กำไลอีเอ็ม แต่เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ ก็จะได้เน้นการเฝ้าระวังเป็นหลัก เพราะเมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษ ศาลจะกำหนดว่าใครจะต้องถูกเฝ้าระวังบ้างในระยะเวลาที่กำหนด 10 ปี ซึ่งในอเมริกาเฝ้าระวังตลอดชีวิต แต่ของเราหากผู้ถูกเฝ้าระวังประพฤติดี ก็สามารถลดระยะเวลาควบคุมได้ ส่วนหากประพฤติไม่ดี ก็มีสิทธิถูกคุมขังได้เหมือนกัน
“ผมขอยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้เป็นมาตรการสร้างความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องการละเมิดสิทธิที่พ้นโทษแล้ว ยังถูกเฝ้าระวัง เพราะจากที่เป็นข่าวก็ยังมีผู้กระทำความผิดซ้ำอยู่ ผมจึงเชื่อว่าสิ่งที่ได้ขับเคลื่อนไป เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก และถ้าสังคมเห็นผมทำดี ก็ขอให้ร่วมกันผลักดัน โดยผมขอขอบคุณสภาฯที่มาจากการเลือกตั้ง และ ครม.ที่ได้เร่งเรื่องนี้ เพราะถือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน” นายสมศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ดำเนินรายการยังถามถึงกรณีการฉีดให้ไข่ฝ่อเป็นอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องรอง เพราะผู้ต้องขังที่ต้องการลดความต้องการทางเพศ ต้องร้องขอถึงจะฉีดได้ ซึ่งไม่สามารถบังคับไปฉีดได้ โดยตนยังอยากให้ทีมแพทย์ไปศึกษาเพิ่มเติมก่อน และหากมีการปรับแก้ก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นนี้ได้ ถ้าหากเห็นว่าเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน.